จังหวัดภูเก็ตดินแดนประวัติ 3000 ปี แห่งแหลมตะโกลา

” ภูเก็ต “ ได้มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่บ้านกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้ขุดพบเครื่องมือหินและขวานหินเป็นการแสดงให้ทราบว่ามี มนุษย์อาศัยในดินแดนแถบนี้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี มาแล้วและได้มีหลักฐานการ กล่าวถึงดินแดนในแถบนี้อีกครั้ง เมื่อปี พ .ศ.700 หรือ คริสต์ศตวรรษที่ 2 ในบันทึกของนักเดินเรือ ชื่อ คลอดิอุส ปโตเลมี กล่าวถึงผืนดินหรือแผ่นดินในส่วนนี้ว่า แหลมตะโกลา เป็นผืนดินที่ถูกดันออกมาทางใต้กลายเป็นแหลมยาวๆ อยู่ส่วนปลายสุดของจังหวัดพังงา อันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อน ของเปลือกโลกขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า รอยเลื่อนคลองมารุย (Klong Marui Fault) ซึ่งวางตัวเป็นแนวยาวจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีและพังงา ลงมาทางทิศตะวันออกของภูเก็ต ต่อมาได้ถูกคลื่นลมในทะเลกัดเซาะ และตัดพื้นที่ดังกล่าวนี้ ออกจากผืนแผ่นดินใหญ่ จนกลายเป็นเกาะโดยเกิดร่องน้ำระหว่างจังหวัดภูเก็ตและพังงาขึ้น ที่เรียกว่า ช่องแคบปากพระ (เป็นร่องน้ำแคบ ๆ โดยส่วนที่ลึกที่สุดลึกเพียง 8-9 เมตร ) ในปัจจุบัน

หอนาฬิกา ภูเก็ต
หอนาฬิกา ตึกชิโนโปรตุกิส ย่านเมืองเก่าภูเก็ต ตั้งอยู่หัวมุมของถนนพังงา

ชื่อเรียกขานที่ใช้เรียกจังหวัดภูเก็ตในอดีต

สำหรับการเรียกขานภูเก็ตของชาวต่างประเทศ ในอดีตนอกจากจะมีปรากฎในบันทึก เมื่อปี พ.ศ. 700 ของนักเดินเรือ คลอดิอุส ปโตเลมี ที่เรียกผืนดินในบริเวณนี้ว่า แหลมตะโกลา แล้วได้มีปรากฎหลักฐานการกล่าวถึง ผืนดินในบริเวณนี้อีกครั้ง จากบันทึก และแผนที่การเดินเรือมาเอเชียตะวันออก ของชาติยุโรป ระหว่างพ.ศ.2054-2397 เรียกผืนดินนี้ว่า จังซีลอน นอกจากนี้ ได้มีหลักฐานเกี่ยวกับการเรียกขาน ผืนดินนี้ของชาวทมิฬ์ในปี พ.ศ.1568 ว่า มณีคราม หมายถึง เมืองแก้ว ซึ่งมีความหมายตรงกับชื่อ ภูเก็จ ที่ปรากฎในจดหมายเหตุเมืองถลาง ฉบับที่ 1 ในปีพ.ศ . 2328 และได้มีการเรียกขานเรื่อย ๆ จนกลายเป็น ภูเก็ต ซึ่งได้ปรากฎในราชกิจจานุเบกษา มาตั้งแต่ พ.ศ.2450 เป็นต้นมา ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ชื่อของจังหวัดภูเก็ตที่ได้มีการกล่าวขานตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบันนั้น ประกอบด้วย แหลมตะโกลา มณิคราม จังซีลอน ภูเก็จ และภูเก็ต ซึ่งในบางครั้งได้มีการเรียกขานว่า สิลัน ถลาง และทุ่งคาร่วมด้วย

คำว่า “ภูเก็ต” เดิมนั้นใช้คำว่า “ภูเก็จ” อันแปลว่า เมืองแก้ว จึงใช้ตราเป็นรูปภูเขา(ภู) มีประกายแก้ว(เก็จ) เปล่งออกเป็นรัศมี (ดูตราที่ผ้าผูกคอลูกเสือ) ตรงกับความหมายเดิมซึ่งชาวทมิฬเรียก มณีคราม

วัดฉลอง ภูเก็ต
วัดฉลอง จังหวัดภูเก็ต

จังหวัดภูเก็ตกับประวัติศาสตร์อันยาวนาน

จากประวัติศาสตร์ไทยภูเก็ตเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรตามพรลิงก์ต่อมาจนถึงสมัยอาณาจักรศิริธรรมนครเรียกเกาะภูเก็ตว่า เมืองตะกั่วถลาง เป็นเมืองที่ 11 ใน 12 เมืองนักษัตรโดยใช้ตราเป็นรูปสุนัข จนถึงสมัยสุโขทัยเมืองถลางไปขึ้นกับเมืองตะกั่วป่าในสมัยอยุธยาชาวฮอลันดามาสร้างสถานที่เก็บสินค้าเพื่อรับซื้อแร่ดีบุกจากเมืองภูเก็ต

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้เกิดสงครามเก้าทัพขึ้น พระเจ้าปดุงกษัตริย์ของประเทศพม่าในสมัยนั้น ได้ให้แม่ทัพยกทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้เช่นไชยา นครศรีธรรมราช และให้ยี่หวุ่นนำกำลังทัพเรือพล ๓,๐๐๐ คนเข้าตีเมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่งและเมืองถลาง ซึ่งขณะนั้นเจ้าเมืองถลาง (พญาพิมลอัยาขัน) เพิ่งถึงแก่อนิจกรรม ท่านผู้หญิงจัน ผู้ภรรยา และคุณมุก น้องสาว จึงรวบรวมกำลังต่อสู้กับพม่าจนชนะเมื่อวันที่ 13 มีนาคมพ.ศ. 2328พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงจันเป็น ท้าวเทพกระษัตรีและคุณมุกเป็นท้าวศรีสุนทร

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รวบรวมหัวเมืองชายทะเลตะวันตกตั้งเป็น มณฑลภูเก็จ และเมื่อปี พ.ศ. 2476 ได้ยกเลิกระบบมณฑลเทศาภิบาลเปลี่ยนมาเป็น จังหวัดภูเก็ต จนถึงปัจจุบัน

ชายหาด ภูเก็ต
ชายหาดสวยน้ำใจ จังหวัดภูเก็ต
อ่านต่อ