บทความวันนี้ขอนำเสนอประวัติของจังหวัดชุมพรให้ผู้อ่านได้ศึกษากันนะครับ จังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดหนึ่งอยู่ทางตอนบนของภาคใต้ ในอดีตก็จะเป็นเมืองหน้าด่าน ตามคำขวัญท่อนหนึ่งของจังหวัดชุมพรก็ได้กล่าวไว้ว่า

ประตูภาคใต้ ไหว้เสด็จในกรม ชมไร่กาแฟ แลหาดทรายรี ดีกล้วยเล็บมือ ขึ้นชื่อรังนก

คำขวัญจังหวัดชุมพร

จังหวัดชุมพรมีความเป็นมาอย่างไรไปติดตามกันต่อเลยครับ

จังหวัดชุมพรเมืองสิบสองนักษัตรของนครศรีธรรมราช

จังหวัดชุมพรมีชื่อปรากฏตั้งแต่ปีพุทธศักราช 1098 ในตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชฉบับของหอสมุดแห่งชาติ โดยมีความว่า เมืองชุมพรนั้นมีฐานะเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของนครศรีธรรมราช ใช้รูปแพะเป็นตราเมือง เป็นเมืองหน้าด่านฝ่ายเหนือเพราะอยู่ทางตอนบนของภาคใต้ การเดินทางโดยทางบกจำเป็นต้องผ่านเมืองชุมพร ในปีพุทธศักราช 1997 แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถปรากฏในกฎหมายตราสามดวงว่า เมืองชุมพรเป็นเมืองตรีอาณาจักรฝ่ายใต้ของกรุงศรีอยุธยาจนถึงพุทธศักราช 2459 จึงมีฐานะเป็นจังหวัดในมณฑลสุราษฏร์ธานี

เมืองชุมพรจะตั้งอยู่ ณ ตำบลใด ที่ใดไม่มีหลักฐานที่แน่นอนทั้งนี้เมืองชุมพรไม่มีโบราณวัตถุที่เป็น พยานหลักฐานว่าเมืองแต่โบราณ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเรียบเรียงไว้ใน ตำนานเมืองระนอง ความตอนหนึ่งว่า”เมืองชุมพรประหลาดผิดกับเมืองอื่นในแหลมมลายู เมืองที่ตั้งมาแต่ โบราณ เช่น เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช เป็นต้น ล้วนมีโบราณวัตถุและมีตัวเมืองปรากฏอยู่บ้างรู้ได้ว่าเป็น ้เมืองมาแต่โบราณ แต่เมืองชุมพรยังไม่ได้พบโบราณสถานวัตถุเป็นสำคัญแต่อย่างใด อาจจะเป็นด้วยเหตุ 2 ประการ คือ มีที่นาไม่พอกับคนประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งอยู่ตรงคอคอดแหลมมลายู มักเป็นสมรภูมิรบพุ่ง กันตรงนี้ จึงไม่สร้างเมืองถาวรไว้ แต่ก็ต้องรักษาไว้เป็นเมืองด่าน” นอกจากเหตุผล 2 ประการดังกล่าวแล้ว พิจารณาจากสภาพตามธรรมชาติแล้วยังมีเหตุผลอีกอย่างหนึ่ง คือ ที่ท้องที่ตั้งจังหวัดชุมพรเป็นที่ราบต่ำน้ำท่วม บ้านเรือนราษฎร เรือกสวนไร่นาเสียหายอยู่เสมอ บางปีน้ำท่วมถึง 2 – 3 ครั้ง ภัยจากน้ำท่วมอาจเป็นเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ไม่นิยมสร้างถาวรวัตถุไว้ให้ปรากฏแก่ชนรุ่นหลังก็ได้ แม้แต่บ้านเรือนราษฎรในเมืองก็ไม่ปรากฏว่าได้ ก่อสร้างอาคารถาวรเป็นเรือนตึกหรือคอนกรีต เพิ่งจะมีตึกขึ้นเป็นครั้งแรกในตลาดชุมพร เมื่อ พ.ศ.2491 นี้เอง

ประวัติที่มาของชื่อจังหวัดชุมพร

คำว่า “ชุมพร” ตามอักษรแยกได้เป็น 2 คำ คือ คำว่า “ชุม” ซึ่งมีความหมายว่า รวม,ชุก,มาก,รวมกันอยู่ และคำว่า “พร” ซึ่งมีความหมายว่า ของดี,ของที่เลือกเอา,ของประเสริฐ ดังนั้นคำว่าชุมพร ถ้าแปลตามตัวอักษร ก็จะได้ความหมายว่า เป็นที่รวบรวมของประเสริฐ แต่ชื่อเมืองชุมพรนั้นไม่ได้มีความหมายตามตัวอักษร

เชื่อกันว่าชุมพรนั้นมาจากคำว่า “ประชุมพล” หรือ “ชุมนุมพล” ซึ่งแปลได้ว่า “รวมกำลัง” เนื่องจากในสมัยก่อนชุมพรเป็นเมืองหน้าด่านทางภาคใต้ และกองทัพมักจะมาตั้งค่ายอยู่ที่เมืองเมืองชุมพร ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการรบกับพม่าหรือปราบกบฏภายในราชอาณาจักรก็ตาม เมื่อยกทัพหลวงมาครั้งใด เมืองชุมพรก็จะต้องเป็นที่ชุมนุมพลหรือชุมนุมกองทัพเสมอ คำว่าชุมพรจึงเป็นไปได้ว่าเกิดจากการเรียกเพี้ยนมาจากคำว่าประชุมพล เพราะคนไทยทางใต้ชอบพูดคำสั้นๆ จึงตัดคำว่าประออกเสีย เหลือแค่ “ชุมพล” และคำว่าพลก็เพี้ยนกลายมาเป็นคำว่า “พร” แทน ซึ่งตามธรรมดา ชื่อเมืองหรือตำบลมักจะถูกเรียกเพี้ยนไปจากเดิมเสมอ อย่างไรก็ดีเมืองชุมพรนับว่าเป็นเมืองที่สำคัญทางยุทธศาสตร์มาตั้งแต่สมัย โบราณ ดังนั้นจากคำว่าประชุมพลจึงมีความหมายตรงกับประวัติศาสตร์ของเมืองที่ว่า เป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์

ในอีกความเชื่อ การเดินทางไปรบทัพจับศึกของแม่ทัพนายกองตั้งแต่สมัยโบราณ เมื่อจะเคลื่อนพลจะต้องทำพิธีส่งทัพโดยการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอให้ได้ รับชัยชนะในการสู้รบ เพื่อเป็นการบำรุงขวัญทหาร ในสถานที่ชุมนุมเพื่อรับพรเช่นนี้จึงตรงกับความหมายชุมนุมพร หรือประชุมพร ซึ่งทั้งสองคำนี้อาจเป็นต้นเหตุของคำว่า “ชุมพร” เช่นเดียวกัน

และความเชื่อสุดท้าย อันเนื่องจากที่ตั้งเมืองเดิมนั้นอยู่ทางฝั่งขวาของคลองชุมพร ซึ่งมีต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า “มะเดื่อชุมพร” ขึ้นอยู่ทั่วไป เดิมคลองนี้ยังไม่มีชื่อภายหลังจึงถูกตั้งชื่อว่าคลองชุมพรตามชื่อต้นไม้ เพราะปกติการตั้งชื่อท้องที่หรือแม่น้ำลำคลองมักจะตั้งตามชื่อต้นไม้หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ปรากฏอยู่ ณ ที่แห่งนั้น ต่อมาเมืองที่มาตั้งจึงมีชื่อตามต้นไม้ไปด้วย เช่นเดียวกับชื่อชุมพร อาจเรียกตามชื่อหรือคลองหรือชื่อต้นไม้ก็เป็นได้

ประวัติศาสตร์ในสมัยต่างๆ ของจังหวัดชุมพร

สมัยกรุงสุโขทัย เมืองชุมพรเป็นเมืองที่มีเจ้าเมืองปกครองมายาวนาน ในสมัยสุโขทัยนั้นเป็นเมืองขึ้นต่ออาณาจักรนครศรีธรรมราชในฐานะเมืองอาณานิคมและเป็นเมืองหน้าด่านฝ่ายเหนือ หรือเมืองปีมะแม ถือตราแพะ เป็น 1 ในเมือง 12 เมือง หรือเรียกว่า”เมืองสิบสองนักษัตร” ของอาณาจักรนครศรีธรรมราช

สมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองชุมพรในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น เมื่อกรุงศรีอยุธยาเรืองอำนาจในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้แผ่ขยายอาณานิคมลงทางใต้ ชาวจามได้มาอาศัยอยู่ที่เมืองชุมพร เนื่องด้วยชาวจามมีความสามารถ การค้า การเดินเรือ และการรบจะเห็นได้จากทหารอาสาจามเป็นทหารชั้นดีที่รับใช้ราชสำนักตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีความสามารถการรบและการเดินเรืออย่างเชี่ยวชาญ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทำให้เมืองชุมพรต้องขึ้นต่ออาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ในฐานะเมืองอาณานิคม เป็นเมืองหน้าด่านฝ่ายใต้ และเป็นเมืองท่าการค้าสำคัญของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เมืองชุมพรจึงมีบทบาทเป็นเมืองหน้าด่านมาแต่โบราณในอาณาจักรนครศรีธรรมราชและอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาทำให้ไม่มีการก่อสร้างวัตถุถาวรไว้ ดังนั้นชาวชุมพรจึงเป็นลูกหลานนักรบที่แท้จริง และควรให้สมญานามบรรพบุรุษว่า “วีรบุรุษนักรบแห่งคอคอดกระ ดินแดนสองฝั่งทะเล” จากการทำศึกสงครามอย่างต่อเนื่องในแต่ละยุคแต่ละสมัย

 สมัยกรุงธนบุรี เมืองชุมพรในสมัยกรุงธนบุรีไม่ค่อยมีบทบาทมากนักเพราะอยู่ในภาวะสงครามของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทั้งรัชกาล และสืบเนื่องจากพระชุมพร (พวย) นำกำลังกองทัพบก กองทัพเรือ เมืองชุมพร กำลังพลประมาณ 800 คน ได้สูญเสียจากการรบในช่วงกรุงแตกที่ค่ายบางกุ้ง จากการส่งกำลังเข้ารักษาพระนครศรีอยุธยาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2305-2308 และเข้าร่วมรบเพื่อตีเมืองนครศรีธรรมราช จึงทำให้เกิดการล้าของชาวเมืองชุมพร

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองชุมพรเป็นเมืองท่าค้าขายสำคัญ จนถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวจามยังมีบทบาทในดินแดนแถบนี้ ต่อมา รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นมณฑลชุมพร ต่อมามีการยุบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลเป็นจังหวัด ชุมพรจึงมีฐานะเป็นจังหวัด และเมื่อ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สามารถเดินเรือได้เอง ชาวจามก็หมดบทบาทลงในเวลาต่อมา

อ่านต่อ