ประวัติความเป็นมาของจังหวัดนครพนม

จังหวัดนครพนม เป็นจังหวัดเล็ก ๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ในดินแดนที่ราบสูง อดีตเป็นศูนย์กลางของ อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์อันรุ่งเรือง แรกทีเดียวตัวเมืองตั้งอยู่ทางฝั่งซ้าย ของลำน้ำโขง (ฝั่งลาว) บริเวณทางใต้ปากเซบั้งไฟ ตรงข้ามกับอำเภอพระธาตุพนมในปัจจุบัน ตามอุรังคนิทานหรือตำนาน พระธาตุพนม (พิสดาร) ของพระธรรมราชานุวัตรอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม ได้เรียบเรียงไว้ ตอนหนึ่งว่า สมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดสัตว์ที่แคว้นศรีโคตรบูรณ์ มีพุทธทำนายว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้วเมืองศรีโคตรบูรณ์จักย้ายไปตั้งที่ “ป่าไม้รวก” มีนามว่า “เมืองมรุกขนคร” ซึ่งสันนิษฐานกันว่าหมายถึง เมืองที่อยู่ในดงไม้รวก ตามสภาพภูมิประเทศที่สร้าง บ้านแปงเมืองนั้นเอง

วัดพระธาตุพนม
พระธาตุพนมวรมหาวิหาร

ที่ตั้งจังหวัดนครพนม

จังหวัดนครพนม ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีประวัติสืบทอดยาวนาน เชื่อว่าเดิมศูนย์กลางของ อาณาจักรศรีโคตรบูร ที่รุ่งเรืองในอดีต ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่12 เป็นอาณาจักรอิสระ ไม่ขึ้นกับใคร ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ได้เสื่อมอำนาจลง ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรขอม ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 18 ชื่อของ “ศรีโคตรบูร” ได้กลายมาเป็นเมืองใน อาณาจักรล้านช้าง มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง โดยพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ล้านช้าง ทรงสร้างเมืองที่ปากห้วยหินบูร (ปากห้วยบรรจบลำ น้ำโขงฝั่งซ้ายตรงข้ามอำเภอท่าอุเทน เหนือเมืองนครพนม) และได้สืบทอดราชสมบัติต่ออีกหลายพระองค์

แม่น้ำโขง
ริมแม่น้ำโขง

จังหวัดนครพนม มีประวัติสืบทอดยาวนาน เชื่อว่าเดิมศูนย์กลางของ “อาณาจักรศรีโคตรบูร” ที่รุ่งเรืองในอดีต ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่12

ภายหลังย้ายเมืองมาตั้งที่ป่าไม้รวก ห้วยศรีมัง ริมแม่น้ำโขงฝั่งซ้าย (คือเมืองเก่าใต้เมืองท่าแขกในปัจจุบัน) ถึงปีพุทธศักราช 2297 มี พระนครานุรักษ์ครองเมืองศรีโคตรบูร มีความเห็นว่าเมืองมิได้ตั้งอยู่ที่ปากห้วยแล้ว จึงได้เปลี่ยนนามเมืองใหม่ว่า “เมืองมรุกขนคร” เพราะถือว่าสร้างขึ้นในดงไม้รวก นามเมืองศรีโคตรบูรจึงเปลี่ยนไปตั้งแต่ครั้งนั้น

ช่วงประมาณพุทธศักราช 2309 สมัยพระบรมราชากู่แก้ว หลังจากชนะศึกกับพระนครานุรักษ์ (คำสิงห์) เจ้าราชบุตรเขยผู้ไปสวามิภักดิ์ต่อ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 (เจ้าองค์หล่อ) แห่งนครเวียงจันทน์ พระองค์ได้ย้ายเมืองข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมาที่ปากบังฮวก (ฝั่งประเทศไทยปัจจุบัน คือบริเวณวัดมรุกขนคร ตำบลดอนนางหงส์ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม) และต่อมาในปีพุทธศักราช 2321 พระเจ้ากรุงธนบุรีทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสิงหนาท ยกทัพมาตีเอาหัวเมืองทางแถบแม่น้ำโขง รวมไปจนถึง นครเวียงจันทน์ เมืองมรุกขนครจึงได้ขึ้นกับกรุงธนบุรีในสมัยนี้ แต่ยังคงปกครองตนเองอยู่ หลังจากนั้น ราวปีพุทธศักราช 2322 สมัยพระบรมราชา (พรหมา) ได้ย้ายเมืองจากปากบังฮวก มาอยู่ที่บ้านหนองจันทร์ (ห่างจากตัวเมืองนครพนมไปทางทิศใต้ 4 กิโลเมตร) ตั้งชื่อเมืองใหม่ว่า “นครบุรีราชธานี”

สะพานมิตรภาพไทย ลาว 3
สะพานมิตรภาพไทย–ลาว 3 (นครพนม–คำม่วน)

ที่มาของชื่อจังหวัดนครพนม

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามเมืองเสียใหม่ว่า “เมืองนครพนม” ขึ้นตรงต่อกรุงรัตนโกสินทร์ การที่พระราชทานนามว่า “เมืองนครพนม” สันนิษฐานได้ว่า อาจจะเนื่องด้วยเดิมเมืองนี้เป็นเมือง ลูกหลวงมาก่อน เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ จึงให้ใช้คำว่า “นคร” หรืออีกนัยหนึ่งคำว่า “นคร” นี้ อาจรักษาชื่อเมืองเดิมไว้ คือ “เมืองนครบุรีราชธานี” ส่วนคำว่า “พนม” อาจจะเนื่องด้วยจังหวัดนี้มีองค์พระธาตุพนมประดิษฐานอยู่หรืออาจจะเนื่องจากเดิมมีอาณาเขต ไกลไปถึงดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง คือบริเวณเมืองท่าแขก ซึ่งภูเขาสลับซับซ้อนมากกมาย ไปจนถึงดินแดนของประเทศเวียดนาม จึงใช้คำว่า “พนม” แปลว่า “ภูเขา”

ขอบคุณที่มา http://www2.nakhonphanom.go.th/

อ่านต่อ